ว่านนางคำ

ลักษณะ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในตระกูลขิงลำต้นมีสีเขียวซึ่งเจริญมาจากส่วนของหัวเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ลักษณะของก้านใบยาวแข็ง สีใบเขียวเข้มโดยมีกระดูกและขอบใบสีแดง เนื้อในหัวเหง้ามีสีเหลืองถึงสีเหลืองเข้ม หัวเหง้ามีกลิ่นหอมเย็นและมีรสฝาดว่านนางคำมีหลายชนิด เช่น ว่านนางคำ 1, ว่านนางคำ 2 และว่านนางคำ 3 ซึ่งมีสีของหัวเหง้าและการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามนิยมใช้เป็นส่วนประกอบของสมุนไพรเสริมความงาม



ภาพที่ 1 เหง้าของว่านนางคำชนิดต่างๆ

วิธีปลูก ขยายพันธุ์ด้วยหัวเหง้า ชอบดินร่วนปนทรายและ ว่านชนิดนี้ถือว่าเป็นพญาว่าน ดินปลูกควรเป็นดินจากกลางแจ้งเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียดคลุกเคล้าด้วยใบพืชและหญ้าสับฟางข้าวและใบพืชตระกูลถั่วแล้วใช้ก้อนอิฐมอญทุบหยาบๆ 4-5 ก้อนรองก้นกระถางเพื่อช่วยระบายน้ำ นำมาปลูกโดยให้เหง้าโผล่อย่ากลบดินให้มิดและกดดินให้แน่น รดน้ำด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” ทุกครั้ง และปลูกวันพฤหัสข้างขึ้น


การใช้ประโยชน์ ทางเภสัชวิทยาใช้เหง้ามาตำละเอียดใช้พอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอกตามร่างกายโดยใช้เหล้า 40 ดีกรีเป็นกระสาย คุณสมบัติพิเศษของว่านนางคำอย่างอย่างก็คือในสมัยโบราณใช้เขียนภาพหรือใช้ย้อมผ้า ว่านชนิดนี้เป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ต้องเสกด้วย”นะโมพุทธายะ” ก่อนที่จะใช้ยาทุกครั้ง ในปัจจุบันได้นำว่านนางคำมาเป็นส่วนประกอบของครีมนวดหน้า โดยนำมาใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น เช่น พญายา ขมิ้น ไพล และใบบัวบก ใช้ทำน้ำมันว่าน 108 สำหรับรักษาแผลสด แผลฟกช้ำ ถูนวดแก้ปวดเมื่อย และแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย


ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่าสารสกัดจากว่านนางคำสามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียแกรมบวก Staphylococccus aureus, แบคทีเรียแกรมลบEscherichia coli, ยีสต์ Candida albicansและเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งจุลินทรีย์บางตัวเป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนัง โรคท้องเสีย และเป็นเชื้อที่ฉวยโอกาสในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประโยชน์ในการนำว่านชนิดนี้ไปต่อยอดก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาและดูแลสุขภาพ



ภาพที่ 2การยับยั้งจุลินทรีย์ของสารสกัดจากว่านนางคำ

เอกสารอ้างอิง

เกษตรกรรมธรรมชาติ. 2555.ขุมทรัพย์ว่านไทย.15 (11).

ชุมนุมว่านยาและไม้มงคล. รังว่านปากช่อง. สำนักงาน หอสมุดกลาง 09, กรุงเทพ. 263 หน้า.

นิตยา บุญทิม, ชินกฤต สุวรรณคีรี, วสุ ปฐมอารีย์, อนุชา รักสันติและสมภพ บุญทิม.2560.

การศึกษาฤทธิ์การยับยั้งจุลินทรีย์ของพืชสมุนไพรวงศ์ขิง. การประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยพืชเขตร้อนและกึ่งร้อน. วันที่ 3-4 สิงหาคม 2560. กรุงเทพมหานคร.



ร่วมแสดงความคิดเห็น