ปัญหาที่นำมาสู่งานวิจัย
ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวที่มีราคาสูงและความต้องการข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นตลอดเวลาข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นพันธุ์ข้าวที่สร้างชื่อเสียงให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่มีคุณภาพหลังการหุงต้มดีเด่น โดยเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย มีสีขาวเหมือนดอกมะลิ เมล็ดข้าวคงรูป จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีการส่งออกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไปยัง 120 ประเทศทั่วโลกโดยมีปริมาณการส่งออกระหว่าง 2.2-2.5 ล้านตันต่อปี นำเงินตราต่างประเทศจำนวนหลายหมื่นล้านบาทสู่เกษตรกรไทย
แต่การเพิ่มการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในรูปอุตสาหกรรม (Mass production, Industrial cultivation) เพื่อเพิ่มการส่งออก มีข้อจำกัดเนื่องจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ทำให้ทำการเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งในฤดูข้าวนาปี ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตต่ำ (เฉลี่ย 363 กิโลกรัม/ไร่) เป็นข้าวต้นสูง (Tall variety) มีลำต้นเล็ก อ่อนแอ และมีความสูงมากที่ 138-150 เซนติเมตร จึงหักล้มง่ายในระยะเก็บเกี่ยวทำให้ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกแบบข้าวนาหว่านที่มีค่าใช้จ่ายในการทำนาต่ำกว่าข้าวนาดำและไม่สามารถเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องจักรกล นอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคและแมลงศัตรู เช่น โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม หนอนกอข้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิ (Thai jasmine rice, KDML 105, RD 15) ของประเทศไทยในอัตราที่สูงขึ้นพบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติและลักษณะเบื้องต้นคือต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง (เพาะปลูกได้ตลอดปี) ต้นเตี้ย (Dwarf) หรือต้นเตี้ยปานกลาง (Semi dwarf) เพื่อให้สามารถทำการเพาะปลูกแบบนาหว่านที่ตอบสนองต่อการผลิตข้าวแบบอุตสาหกรรม ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรคได้อย่างกว้างขวาง
การดำเนินการวิจัยในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการพัฒนาวิธีการต่างๆ ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ใช้การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ (เป็นการปรับปรุงพันธุ์ที่ไม่ใช่การสร้าง GMOs) เช่น การอาบเมล็ดข้าวด้วยรังสีแกมม่า (อิเล็กตรอน) รวมทั้งการระดมยิงเมล็ดข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ ( พลังงานในเรือน keV) บนเซลล์สิ่งมีชีวิตและพบว่าลำไอออนของธาตุมวลหนักเช่น อาร์กอน และ ไนโตรเจน ที่มีพลังงานต่ำกลับให้ค่าผลกระทบจากการถ่ายทอดพลังงาน ประจุ โมเมนตัม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ RBE (Relative Biological Effectiveness) ที่สูงมากซึ่งน่าจะเหมาะสมกับการนำมาประยุกต์ในการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในเซลล์สิ่งมีชีวิต (Moristhita et al., 2003)
ในปี 2546-2549 ทีมงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ใช้ชื่อกลุ่ม "IBBE (Ion Beam Bio Engineering)" อันประกอบด้วยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูง ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ [ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง (หัวหน้าโครงการวิจัย) ดร. เหลียงเติ้ง ยู] นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [ดร. บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี] นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ [รองศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ อนันตลาโภชัย] และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ [ดร. รัฐพร จันทร์เดช] ได้ดำเนินการวิจัยแบบสหสาขาวิทยาในการประยุกต์เทคนิคลำไอออนพลังงานต่ำกับการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยได้รับการสนับสนุนในการทำวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้กรอบโครงการเมธีวิจัยอาวุโสระยะที่ 3 เรื่อง "ลำไอออนพลังงานต่ำกับงานทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ" พ.ศ. 2546-2549 โดยมีจุดมุ่งหมายคือการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้กลายพันธุ์เป็นข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง หรือข้าวพันธุ์ต้นเตี้ย ซึ่งอาจนำมาซึ่งการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ใหม่และส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกข้าวและอาจรวมไปถึงการคัดพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ให้ผลผลิตสูง
ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดังกล่าวได้แถลงข่าวความสำเร็จในการประยุกต์ลำไอออนพลังงานต่ำในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 (KDML 105) ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก (ข้าวนาโน, 2549; Phanchaisri et al., 2007) โดยสามารถพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากพันธุ์เดิม ได้แก่
ในปี 2550-2551 ทีมงานวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนในการทำวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการการพัฒนาข้าวและกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ด้วยลำไอออนวิศวกรรมชีวภาพ โดยเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบข้าวกลายพันธุ์ที่สำคัญ เช่นการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์กลายพันธุ์ทั้งหมดเข้าสู่ข้าวขาวดอกมะลิ 105 (Backcross) เพื่อรวบรวมลักษณะที่ดีเข้าหาข้าวขาวดอกมะลิ 105 พ่อแม่ ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวลูกผสมชนิดต่างๆ ที่กำลังคัดเลือกสายพันธุ์มากกว่า 10 ชนิด ในการศึกษาชนิดของสารกำจัดอนุมูลอิระในข้าวกลายพันธุ์ซึ่งพบว่าในข้าว BKOS6 มีปริมาณของ Kaempferol, Quercetin, Apigemin (สารในกลุ่ม Flavanoid) และ Cyanidin chloride (สารในกลุ่ม Anthocyanin) ในปริมาณที่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ในการศึกษาการแสดงออกของยีนด้วยวิธี cDNA-HAT RAPD เพื่อศึกษาถึงยีนในข้าวกลายพันธุ์โดยพบยีนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะต้นสูง TKOS4 ได้แก่ยีนที่เข้ารหัสโปรตีน 14-3-3 โดยพบการแสดงออกของยีน 14-3-3 ในข้าวที่อายุ 65 วันซึ่งอยู่ในระยะเจริญพันธุ์ (Reproductive growth stage) ของต้นข้าว จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าโปรตีน 14-3-3 ที่ได้จากยีน 14-3-3 ทำหน้าที่เข้าจับและกดการทำงานของโปรตีน bZip transcription factor (RSG, REPRESSION of SHOOT GROWTH) ซึ่ง RSG ทำหน้าที่ Repress การถอดรหัสยีนที่สังเคราะห์ GA (ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน) ทำให้คาดหมายว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าว TKOS4 มีลักษณะสูงและผอมชะลูด (วช-1, 2552)
ในปี 2553 ดร. บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี (หัวหน้าโครงการ) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. ยู เหลียงเติ้ง จากศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสม่าและลำอนุภาค ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และ รศ. ดร. สมบูรณ์ อนันตลาโภชัย จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนในการทำวิจัยจากเงินอุดหนุนการวิจัยจากงบประมาณประจำปี 2553 จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัย "การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตสูงจากข้าวหอมมะลิ 105 ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ (Development of high yield rice varieties from KDML 105 by low energy ion beam)" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวขาวดอกมะลิ 105 (KDML 105) ด้วยเทคนิคลำไอออนพลังงานต่ำให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง ไม่ไวต่อช่วงแสงที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปีและเป็นข้าวต้นเตี้ยที่สามารถทำการเพาะปลูกแบบข้าวนาหว่านและสามารถเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกลโดยยังคงคุณภาพหลังการหุงต้มที่ดีเด่นของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไว้ดังเดิม โดยคณะวิจัยได้ทำการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวขาวดอกมะลิ 105 ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ (พลังงานไอออนน้อยกว่า 100 keV) โดยการระดมยิงเมล็ดข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 27,000 เมล็ด เมล็ดข้าวสายพันธุ์ BKOS6 (ข้าวขาวดอกมะลิพันธุ์กลายที่พัฒนาจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 ด้วยเทคนิคลำไอออนในปี 2546-2549 แต่เป็นข้าวให้ผลผลิตต่ำที่มีจำนวนเมล็ดต่อรวงประมาณ 80 เมล็ด) จำนวน 3,000 เมล็ด ด้วยลำไอออนไนโตรเจนที่ถูกเร่งด้วยพลังงาน 60-100 kV ที่ความเข้มของไอออน 1-8x1016 ไอออน/ตารางเซนติเมตร ได้ทำการคัดเลือกข้าวขาวดอกมะลิ 105พันธุ์กลายจากข้าวที่ผ่านการระดมยิงด้วยลำไอออนที่มีลักษณะจำเพาะของข้าวที่ให้ผลผลิตสูง (Jennings, 1964) ได้แก่ข้าวที่มีลักษณะลำต้นสั้น (short) เตี้ยปานกลาง (semidwarf) ใบแข็งตรง (erect) ใบสีเขียวเข้ม มีลำต้นเล็กแต่สั้น จำนวนหน่อต่อกอมาก มีเมล็ดต่อรวงมาก และเป็นข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง )
งานวิจัยดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างงดงามโดยได้สายพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเบื้องต้นและคุณสมบัติเป็นข้าวให้ผลผลิตสูงจำนวน 28 สายพันธุ์ (HyKOS1-HyKOS22, Phanchaisri et al., 2010; บุญรักษ์ และคณะ, 2553; Phanchaisri et al., 2012) และได้ทำการตรวจสอบการคงที่ของการกลายพันธุ์จนถึงรุ่นที่ 4 พบข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์กลายที่มีความเสถียรที่ยังคงลักษณะเบื้องต้นของข้าวที่ให้ผลผลิตสูงจำนวน 25 สายพันธุ์ และได้พบข้าวหอมมะลิสายพันธุ์กลายที่มีลักษณะดีเด่นของลักษณะข้าวที่ให้ผลผลิตสูงที่มีลักษณะตามที่ต้องการ จำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ HyKOS3 สายพันธุ์ HyKOS3-1 สายพันธุ์ HyKOS7-1 สายพันธุ์ HyKOS16 สายพันธุ์ HyKOS21 (เมล็ดข้าวสีก่ำ) และสายพันธุ์ HyKOS22
ในงานวิจัยได้ทำการตรวจสอบการกลายพันธุ์ที่แสดงออกทางสัณฐานวิทยา (Phenotypic variations) ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (Genotypic variations) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของ DNA finger print ศึกษาการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการกลายพันธุ์ที่แสดงออกทางสัณฐานวิทยา โดยตรวจสอบ cDNA finger print โดยวิธี HAT-RAPD (High Annealing Temperature-RAPD) และได้ตรวจสอบความคงที่ (Stability) ของการกลายพันธุ์ในข้าวสายพันธุ์ใหม่ในรุ่นที่ 2-4 อย่างไรก็ตามในการศึกษาการคงที่ของการกลายพันธุ์จำเป็นต้องทำการศึกษาจนถึงรุ่นที่ 5 ก่อนที่จะทำการศึกษาผลผลิตของข้าวกลายพันธุ์
ในปี 2554 ทีมงานวิจัยศึกษาการคงที่ของของการกลายพันธุ์ (การคงอยู่ของคุณสมบัติไม่ไวต่อช่วงแสงและการคงที่ของการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยา, Phenotypic variations) ของต้นข้าวให้ผลผลิตสูง 25 สายพันธุ์ในรุ่นที่ 6 (1 สิงหาคม-10 ธันวาคม 2554) และคัดเลือกได้สายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์กลายให้ผลผลิตสูงที่มีลักษณะดีเด่นที่มีการคงที่ของการกลายพันธุ์จำนวนไม่น้อยกว่า 6 สายพันธุ์
ปัจจุบันสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์กลายที่ให้ผลผลิตสูง จำนวน 6 สายพันธุ์ (HyKOS3, HyKOS3-1, HyKOS7-1, HyKOS16, HyKOS21, HyKOS22) ได้ถูกนำมาศึกษาวิจัยในแผนงานงานวิจัยระยะ 2 ปี (2555-2557 ทุนวิจัยจาก สวก.) เรื่อง "การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์กลายที่ได้จากเทคนิคลำไอออนพลังงานต่ำที่ให้ผลผลิตสูงสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย" เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในทุกบริบทของปัญหาการผลิตข้าวในภาคเหนือ (วช., 2554) ในด้านต่าง ๆ (รูปภาพ 1) ได้แก่
เอกสารอ้างอิง
Boonrak Phanchaisri, Nuananong Semsang, Chanon Jaichuen, LiangDeng Yu, and Somboon Ananthalabhochai. Poster presentation in the topic "Development of high yield rice varieties from KDML 105 by low energy ion beam" at the TSB2010 ( international Conference on Biotecnology for Healthy Living) , 20th -22nd October, 2010, Songkla, Thailand.
Jenning, P.P. (1964). Plant type as a rice breeding objective. Crop Sci.4:13-15.
Morishita, T., Yamaguchi, H., Degi, K., Shikazono, N., Hase, Y., Tanaka, A. and Abe, T. 2003. Dose response and mutation induction by ion beam irradiation in buckwheat. Nucl. Instr. And Meth., B106:565-569.
Phanchaisri, B., Semsang, N., Yu, L.D., Singkarat, S. and Anuntalabhochai, S. (2012). Expression of genes, 14-3-3, and OsSPY, involved in plant height variations found in ion-beam-induced KDML 105 rice mutants. Mutation Res., 734:56-61.
Phanchaisri, B., Chandet, R., Yu, L.D., Vilaithong, T., jamjod, S. and Anuntalabhochai, S. 2007. Low-energy ion beam-induced mutation in Thai jasmine rice (Oryza sativa L. cv. KDML 105). Surf. Coat. Technol. 201:8024-8028.
ข้าวนาโน. (2549). บทความเรื่อง "ความสำเร็จในการใช้นาโนเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์ข้าวของนักวิทยาศาสตร์ ไทย" National Geographic (ฉบับภาษาไทย) มิถุนายน 2549 (ISSN 1513-9840) หน้า 126-127.
บุญรักษ์ และคณะ. (2553). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตสูงจากข้าว หอมมะลิ 105 ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ (Development of high yield rice varieties from KDML 105 by low energy ion beam) เสนอต่อสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2553
วช-1. (2552). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยการพัฒนาข้าวและกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ด้วยลำไอออนวิศวกรรม ชีวภาพ เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) พ.ศ. 2552
วช. (2554). ยุทธศาสตร์การวิจัย (พ.ศ. 2555-2559) : ภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
การประเมินการยอมรับของผู้บริโภคของข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์กลาย |
การพัฒนาข้าวขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์กลายโดยเทคโนโลยีลำไอออน |
โรคของผลไม้หลังเก็บเกี่ยว |
ทำไมเปิดไฟให้ต้นไม้ |
สะแล พืชพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ |
ความสับสนในสมุนไพรวงศ์ขิง |
Internet of Things สำหรับ Smart Farmer |
บทความทั้งหมด |