พฤติกรรมของผึ้งในการผสมเกสรสตรอเบอรี

  พฤติกรรมของผึ้งในการผสมเกสรสตรอเบอรี บาจรีย์ ฉัตรทอง ในอดีตเกษตรกรไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง โครงสร้างของระบบนิเวศวิทยาการผสมเกสรพืชเป้าหมายมากนัก การผสมเกสรเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศหากไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้เกิดกลไกการผสมเกสร ตัวอย่างเช่น การผสมเกสรดอกทุเรียนด้วยมือ ต้องตัดดอกทิ้งเหลือเพียงไม่กี่ดอก แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องตัดดอกทิ้งแต่ใช้ผึ้งช่วยในการผสมเกสรแทนได้ การตัดดอกทิ้งเป็นการทำลายแหล่งอาหารของแมลงผสมเกสร ทั้งผึ้งพันธุ์และชันโรงทำให้โอกาสในการเพิ่มประชากรมีน้อยลง เมื่อพืชออกดอกและช่วงเวลาในการผสมเกสรมีจำกัด หากแมลงผสมเกสรมีไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อการผลผลิตโดยตรง (สมนึก, มปป.)


  ณรงค์ชัย (2543) ได้กล่าวถึงการผสมเกสรของสตรอเบอรีไว้ว่า ดอกของสตรอเบอรีที่ปลูกเป็นการค้าส่วนใหญ่จะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ และมีการผสมของเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียภายในดอกเดียวกันได้ (self-fertile) ก็ตาม แต่เกสรตัวเมียมีความพร้อมที่จะรับการผสมได้ก่อนที่ดอกจะบาน และอับละอองเกสรตัวผู้จะแตกออกมา (anthesis) ดังนั้นจึงทำให้เกิดมีการผสมข้ามระหว่างดอกอื่นๆได้ (cross-pollination) ละอองเกสรตัวผู้สามารถผสมกับรังไข่ของเกสรตัวเมียได้โดยอาศัยแมลง แรงโน้มถ่วง (gravity) และลมเป็นพาหะนำไป การขยายส่วนที่เป็นเนื้อของผลนั้นขึ้นอยู่กับการเจริญของเมล็ด ดังนั้นขนาดของผลสตรอเบอรีจึงมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับจำนวนของเมล็ดที่ได้รับการผสมแล้ว (achene fertilization) ส่วนของเกสรตัวเมียภายในช่อดอกจึงมีความจำเป็นต้องถูกผสมให้ทั่วเพื่อให้ได้ผลมีน้ำหนักมากที่สุด ปกติผลที่เกิดจากการผสมข้ามจะมีขนาดใหญ่กว่าผลที่เกิดจากการผสมตัวเอง


  ภายใต้สภาพการปลูกแบบในแปลงกลางแจ้ง ได้มีการทดลองพบว่าแมลงเป็นตัวช่วยในการผสมเกสร 30 เปอร์เซ็นต์ โดยวัดจากการเจริญของเมล็ดในพันธุ์ Redcoat แรงโน้มถ่วงช่วยในการผสมเกสรโดยทำให้น้ำหนักผลในพันธุ์ Midway และพันธุ์ Redcoat เพิ่มขึ้นประมาณ 72-80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พบว่าลมมีส่วนช่วยทำให้น้ำหนักผลของทั้งสองพันธุ์นี้เพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามในการผสมเกสรของสตรอเบอรีโดยอาศัยแมลงนั้นผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) หรือพวก Bumble bees (Bombus terrestris) พบว่าเป็นแมลงที่มีประสิทธิภาพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับแมลงชนิดอื่นๆ หรือลมโดยสามารถทำให้เกิดการติดผลมากขึ้น ผลมีขนาดใหญ่ เมล็ดมีการพัฒนาได้ดี รูปร่างปกติตรงตามพันธุ์ และเพิ่มเกรดของผล เป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้นด้วย การใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรจะมีประโยชน์ต่อพันธุ์ที่มีเกสรตัวผู้สั้นมากกว่าพันธุ์ที่มีเกสรตัวผู้ยาว ซึ่งสามารถอาศัยการตกลงมาของละอองเกสรตัวผู้บนเกสรตัวเมียได้ ในแต่ละดอกถ้าหากว่ามีผึ้งบินมาช่วยผสม 4 ครั้ง และมีการวนเวียนหาน้ำหวานรอบ ๆ เกสรตัวเมีย โดยใช้เวลาในการผสมจนทั่วทั้งหมดไม่เกินหนึ่งนาทีพบว่าเพียงพอต่อการผสมเกสร ในหลายประเทศที่ใช้ระบบปลูกภายใต้โรงเรือนพลาสติก เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือระบบที่ไม่ใช้ดินปลูกที่มีความจำเป็นต้องอยู่ภายในโรงเรือนกระจก เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยม ต้องมีการนำเอารังผึ้งเข้าไปไว้ในโรงเรือนเกือบตลอดช่วงฤดูการปลูก โดยเมื่อพบว่าดอกของสตรอเบอรีเริ่มบานประมาณ 3-5 ดอกต่อต้นแล้วก็จะนำผึ้ง 1 รัง (ประมาณ 2,000-3,000 ตัว) มาวางไว้ภายในโรงเรือนขนาดพื้นที่ประมาณ 300-500 ตารางเมตร ถ้าโรงเรือนมีขนาดใหญ่กว่านี้ก็จำเป็นต้องใช้ผึ้งหลายรังมาช่วยในการผสมเกสร (Matsaka and Sakai. 1988, 1989) จากการศึกษาของ Free (1993) พบว่าประสิทธิภาพของการใช้ผึ้งพันธุ์ในการผสมเกสรสตรอเบอรีนั้น สามารถช่วยเพิ่มปริมาณการติดผลได้ 25เปอร์เซ็นต์ ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 18-100 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณผลที่ไม่ได้รูปลดลง 9-41 เปอร์เซ็นต์ และขนาดของผลเพิ่มขึ้น 7-16 เปอร์เซ็นต์


  ในปี 2553 คณะผู้วิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการออกหาอาหารของผึ้งพันธุ์และชันโรงในการผสมเกสรดอกสตรอเบอรี ในพื้นที่ปลูกสตรอเบอรีสวนดอยแก้ว ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้สรุปข้อมูลไว้ในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 พฤติกรรมการออกหาอาหารของผึ้งพันธุ์และชันโรงในการผสมเกสรดอกสตรอเบอรี


  จากข้อมูลในตารางแสดงให้เห็นพฤติกรรมของผึ้งพันธุ์และชันโรงในการออกหารอาหารและการผสมเกสรสตรอเบอรี ผึ้งพันธุ์บินเพื่อออกหาอาหารโดยระยะเวลาเฉลี่ยนานกว่าชันโรง แต่ชันโรงมีพฤติกรรมในการลงดอกสตรอเบอรีเพื่อช่วยผสมเกสรแต่ละดอกนานกว่าผึ้งพันธุ์ แต่จำนวนดอกที่ลงในแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยกว่าสตรอเบอรี การผสมเกสรของผึ้งพันธุ์และชันโรงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่นได้ และเป็นประโยชน์ต่อพืชชนิดอื่นในระบบนิเวศน์อีกด้วย


เอกสารอ้างอิง


Free, J.B., 1993. Insect pollination of Crop, 2nd ed. Academic Press, San Diego


Matsuka, M. and Sakai, T. 1988. Bee Pollination in Japan with Special Reference to Strawberry Production in Greenhouses. Porc. 2nd Austr. Int. Bee. Congr., Australian. p (135-136)


Matsuka, M. and Sakai, T. 1989. Bee Pollination in Japan with Special Reference to Strawberry Production in Greenhouses. Bee World 70(2):55-61


ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์. 2543. สตรอเบอรี่: พืชเศรษฐกิจใหม่. สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพมหานคร. 158 น.


สมนึก บุญเกิด และอรุณรัตน์ คมขำ. มปป. การเลี้ยงผึ้งและการผสมเกสร. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 547 หน้า



ร่วมแสดงความคิดเห็น