สตรอเบอรี่ จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกระจายกันมากที่สุดในโลก สามารถพบได้แทบทุกประเทศตั้งแต่ แถบขั้วโลกลงมาถึงพื้นที่ในเขตร้อน ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิอากาศและชนิดดินที่ใช้ปลูก
สตรอเบอรี่ เป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมาหลายร้อยปีมาแล้ว ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้พบว่าผลผลิต ที่ใช้สำหรับบริโภคเป็นผลสด และใช้ในเชิงอุตสาหกรรมแปรรูปได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เป็นสาเหตุมาจากการผสมพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตยาวนานขึ้น การนำระบบปลูกแบบดูแลอย่างใกล้ชิดมาใช้ ตลอดจนการเลือกพื้นที่ปลูก ที่มีความเหมาะสมมากกว่าแต่ก่อน ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการทดลองวิจัยที่จะหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้การปลูก สตรอเบอรี่นั้นง่ายขึ้น โดยเน้นการให้ผลผลิตสูงและสามารถทำรายได้ตอบแทนเป็นที่พอใจแก่เกษตรกรผู้ปลูก
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นย่อมก่อให้เกิดปัญหาโรคและแมลงศัตรูของสตรอเบอรี่และการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียโดยตรงต่อเกษตรกร ผู้บริโภคสตรอเบอรี่ และปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม รวมทั้งปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพและปริมาณผลผลิตสตรอเบอรี่ที่เกษตรกรผลิตได้
สตรอเบอรี่เป็นพืชที่ต้องการการผสมเกสรเพื่อให้มีการติดผลมากขึ้น ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น และเมล็ดมีการพัฒนาได้ดี การผสมเกสรโดยใช้แมลงจำพวกผึ้ง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพและผลผลิตของสตรอเบอรี่ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พื้นที่ที่มีการใช้ผึ้งช่วยในการผสมเกสรจะต้องงดการใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด เนื่องจากผึ้งเป็นแมลงที่มีความต้านทานต่อสารเคมีต่ำมาก จึงถือเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับเกษตรกรในการลดต้นทุนการซื้อสารเคมีและเพิ่มความมั่นใจในการจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ปัจจุบันสตรอเบอรี่ไม่เพียงแต่เป็นไม้ผลที่ปลูกเพื่อการจำหน่าย แต่พื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่ยังสามารถพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา หากเกษตรกรสามารถปลูกสตรอเบอรี่โดยการไม่ใช้สารเคมี หรือใช้ในปริมาณที่ต่ำที่สุด การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนความปลอดภัยต่อผู้บริโภคย่อมทำได้ง่ายขึ้น เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพและราคาที่ดีขึ้น ผู้บริโภคมั่นใจในผลผลิตว่ามีความปลอดภัย ส่งผลดีสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
จากการศึกษาโดยใช้สตรอเบอรี่สายพันธุ์ 329 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก โดยเปรียบเทียบข้อมูลทางด้านการผสมเกสรสตรอเบอรี่ระหว่างการใช้ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera L.) ชันโรง (Tetragonula sp.) ในการช่วยผสมเกสรและการผสมเกสรสตรอเบอรี่จากแมลงอื่น ๆ ในธรรมชาติ เพื่อเปรียบเทียบชนิดของแมลงผสมเกสรที่มีความเหมาะสมที่สุดในการช่วยผสมเกสรสตรอเบอรี่ นอกจากนี้ยังได้ทำการเปรียบเทียบความแตกต่างทางด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิตของสตรอเบอรี่ เช่น ขนาด น้ำหนัก รูปร่างของสตรอเบอรี่ที่มีแมลงช่วยในการผสมเกสร โดยผลการทดลองพบว่าชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรสตรอเบอรี่แล้วให้ผลดีที่สุด ทั้งจำนวนการติดผล ขนาดของผล และการลดลงของจำนวนผลที่ไม่สมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตามการใช้แมลงช่วยในการผสมเกสรจะต้องนำไปใช้กับสวนที่ปลูกสตรอเบอรี่แบบปลอดสารพิษ เนื่องจากผึ้งและชันโรงเป็นแมลงที่ไม่มีความทนทานต่อสารเคมี
พฤติกรรมของผึ้งในการผสมเกสรสตรอเบอรี |
การใช้ผึ้งผสมเกสรสตรอเบอรี่เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต |
โรคของผลไม้หลังเก็บเกี่ยว |
ทำไมเปิดไฟให้ต้นไม้ |
สะแล พืชพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ |
ความสับสนในสมุนไพรวงศ์ขิง |
Internet of Things สำหรับ Smart Farmer |
บทความทั้งหมด |