การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อน้อยหน่าในสภาพปลอดเชื้อ

จากการศึกษาการขยายพันธุ์น้อยหน่าโดยการเพาะเลี้ยงชิ้นส่วนข้อในสภาพปลอดเชื้อ มีหลายขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมวัสดุพันธุ์พืช การฟอกฆ่าเชื้อที่ผิวของวัสดุพันธุ์พืช การหาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต การเพิ่มจำนวนยอด และการชักนำให้ออกราก สามารถสรุปวิธีการได้ดังนี้


  1. วัสดุพันธุ์พืช เริ่มจากการเตรียมต้นแม่ให้แข็งแรงสมบูรณ์ โดยตัดกิ่งเก่าที่มีโรคหรือแมลงทิ้ง รดน้ำ ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นพันธุ์แตกกิ่งใหม่ที่สมบูรณ์ แล้วจึงตัดกิ่งพันธุ์ยาวขนาด 4-5 ข้อ โดยเลือกข้อที่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ตัดใบออก และตัดแต่งส่วนที่มีรอยแผลหรือรอยกัดของแมลงออก
  2. การฟอกฆ่าเชื้อที่ผิว นำท่อนพันธุ์ที่ตัดแต่งแล้วไปล้างน้ำสบู่ และน้ำไหลผ่านราว 5 นาที จากนั้นนำไปฟอกฆ่าเชื้อด้วยสารละลายคลอร็อกซ์ความเข้มข้น 10% นาน 15 นาที แล้วจึงล้างด้วยน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง
  3. การตัดและเลี้ยงเนื้อเยื่อ ตัดเอาชิ้นส่วนข้อขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร นำไปปักเลี้ยงบนอาหารแข็งที่เตรียมไว้ในหลอดทดลอง โดยใช้สังเคราะห์พื้นฐานสูตร Murashige & Skoog ดัดแปลง ที่มีน้ำตาลซูโครส 3% วุ้น 0.8% และเติมสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิด BAP 0.5-1.0 mg/l โดยอาจเติมน้ำมะพร้าวร่วมด้วย 10-15%
  4. สภาพการเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำเนื้อเยื่อมาเลี้ยงในสภาพที่ได้รับแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์นาน 16 ชั่วโมง/วัน และอุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส

    เมื่อเลี้ยงชิ้นส่วนข้อด้วยอาหาร MS สูตรที่เติม BAP 1.0 mg/l และ/หรือสูตรที่เติม BAP 1.0 mg/l ร่วมกับน้ำมะพร้าว15% เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จะเห็นยอดใหม่เจริญจากตาที่ข้อ และเมื่อเลี้ยงนาน 6 สัปดาห์ จะมีจำนวนยอดเฉลี่ย 2-3 ยอด/ชิ้น โดยมีความยาวเฉลี่ย 3.06 เซนติเมตร ใบมีขนาดใหญ่แผ่กว้าง ลำต้นอ้วน และปล้องยาว แต่หลังจาก 6 สัปดาห์ ยอดอ่อนมักจะแสดงอาการยอดตายและลุกลามลงมาที่เนื้อเยื่อลำต้นส่วนล่างอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากมีการผลิตก๊าซเอทธิลีน จึงควรทำการย้ายเลี้ยงในอาหารใหม่เพื่อเพิ่มจำนวน หรือชักนำให้ออกรากต่อไป

  5. การชักนำให้ยอดอ่อนออกราก นำยอดอ่อนที่แข็งแรงปักเลี้ยงบนอาหารพื้นฐานสูตร Vacin & Went ดัดแปลง ที่เติมน้ำมะพร้าว 15-20% เมื่อเลี้ยงนาน 2 สัปดาห์ จะเริ่มมีรากจำนวน 1-2 ราก หลังการเลี้ยงนาน 5 สัปดาห์ พบว่ามีความยาวรากเฉลี่ย 2.5 เซนติเมตร ต้นอ่อนที่ได้มีความแข็งแรงและสามารถนำออกปลูกในสภาพอนุบาลได้

ภาพซ้าย- ยอดอ่อนน้อยหน่าเลี้ยงในอาหารที่เพิ่มจำนวน
ภาพขวา- ยอดอ่อนที่ถูกชักนำให้ออกราก



ร่วมแสดงความคิดเห็น