อุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย

  มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยพบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย รองจากมะเร็งเต้านม จากรายงานของ WHO/ICO Information Centre on HPV and Cervical Cancer (HPV Information Centre), Human Papillomavirus and Related Cancers in Thailand, Summary Report 2010 ได้รายงานในปี พ.ศ.2551 ประเทศไทยมีประชากรสตรีที่เสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก 26.09 ล้านคน มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละ 9,999 ราย เสียชีวิต 5,216 ราย หรือประมาณร้อยละ 53 ถ้าคิดเป็นวันแล้วจะมีสตรีไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 14 คน


  อุบัติการณ์โดยรวมของมะเร็งปากมดลูกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาลดลงเพียงเล็กน้อย แต่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกยังคงสูงในระดับนี้โดยไม่มีมาตรการหรือยุทธวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาป้องกัน คาดว่าในปี พ.ศ.2568 จะมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นเป็นปีละประมาณ 13,082 คน เสียชีวิต 7,871 ราย สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด [1]


  จากรายงานทางระบาดวิทยาของมะเร็งในประเทศไทย ฉบับล่าสุดปี พ.ศ. 2553 ซึ่งรวบรวมข้อมูลในระหว่างปี พ.ศ. 2544-2546 พบว่า อัตราอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกที่ปรับตามโครงสร้างมาตรฐานอายุ หรือ Age-Standardized incidence Rate (ASR) คิดเป็น 18.1 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสองในสตรีไทย รองจากมะเร็งเต้านม (ASR 20.9 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย) โดยพบอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยสูงสุดที่จังหวัดระยอง โดยมี ASR 36.6 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี 30.6 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย และต่ำสุดที่จังหวัดขอนแก่น 15.3 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย ส่วนในภาคเหนือ อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ 25.1 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย ซึ่งมีอุบัติการณ์ (ASR) เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ดังรูปที่ 1 โดยภาพรวมของประเทศ ชนิดของมะเร็งปากมดลูกที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ Squamous cell carcinoma คิดเป็นร้อยละ 69.8-81.8 รองลงมา ได้แก่ Adenocarcinoma คิดเป็นร้อยละ 9.8-22.8 ดังรูปที่ 2 [2] อุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูก สูงสุดในช่วงอายุ 50-55 ปี สำหรับอุบัติการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ มีความแตกต่างจากภาพรวมของประเทศ คือพบว่ามีอุบัติการณ์สูงสุดในช่วงอายุ 65-70 ปี โดยใกล้เคียงกับในช่วงอายุ 50-55 ปี, 40-45 ปี และ 35-40 ปี ซึ่งมีอุบัติการณ์สูงรองๆกันไป และจากการศึกษาทางด้านไวรัส พบว่าเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา (Human Papilloma Virus, HPV) หรือไวรัสเอชพีวี โดยเฉพาะไวรัสเอชพีวี 16 และ 18 เป็นสาเหตุหลักให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก [3,4] สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัส ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อย

รูปที่ 1 มะเร็งปากมดลูกในแต่ละภาค ในช่วง พ.ศ. 2544-2546


รูปที่ 2 พยาธิวิทยาของมะเร็งปากมดลูกในแต่ละภาค ในช่วง พ.ศ. 2544-2546

เอกสารอ้างอิง


WHO/ICO (2010) Summary Report on HPV and Cervical cancer statistics in Thailand, 1-61.


Khuhaprema, T., Srivatanakul, P., Attasara, P., Sriplung, H., Wiangnon, S. and Sumitsawan, Y. (2010) Cancer in Thailand, Vol V, 2011-2003. Bangkok : Bangkok Medical Publisher : 52-82.


Haverkos, H.W. (2004) Viruses, chemicals and co-carcinogenesis. Oncogene. 23 : 6492-6499.


Haverkos, H.W. (2005) Multifactorial etiology of cervical cancer : a hypothesis. Med Gen Med. 7 : 57-64.



ร่วมแสดงความคิดเห็น