สีย้อมธรรมชาติจากครั่ง

สีจากครั่ง สามารถใช้เป็นสีย้อมแดงได้ดีและพบมากในภาคเหนือ เป็นน้ำทิ้งจากโรงงานทำครั่งเม็ด ซึ่งมีหลายโรงงานในจังหวัดลำปางและแพร่ ใช้เป็นสีแต่งอาหารและสีย้อมไหม ขนสัตว์ หนังฟอกและฝ้าย โดยส่วนที่ใช้คือ ตัวและรัง รังครั่งจะมีพวกชันและสี เมื่อนำสีออกไปย้อมผ้าแล้ว ชันยังใช้ทำเป็นเชลแลคและน้ำยาขัดเงาได้

ข้อมูลเกี่ยวกับครั่งและสีจากครั่ง

ครั่งเป็นแมลงสีแดงขนาดเล็กมาก อาศัยอยู่ตามกิ่งของต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงเช่น ก้ามปู พุทรา สะแก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lucifer lacca Kerr. ซึ่งอยู่ในวงศ์ Laciferideae ครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้และจะใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นงวงดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เพื่อเป็นอาหารและครั่งจะระบายยางครั่งที่มีลักษณะเหนียวสีเหลืองออกมาเป็นเกราะหุ้มตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรู ยางเมื่อสัมผัสกับอากาศจะแข็งตัว เรียกว่า รังครั่ง แมลงครั่งมีพัฒนาการเป็น 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้และตัวเต็มวัย ตามลำดับ แมลงครั่งตัวเมียมีอายุประมาณ 6 เดือน หลังจากที่วางไข่และฟักเป็นตัวอ่อนแล้วแม่ครั่งจะตายไป ตัวอ่อนจะออกจากซากรังแม่ ไต่ไปตามกิ่งไม้หาส่วนที่มีเปลือกบางอ่อนนุ่มอาศัยเจาะดูดน้ำเลี้ยงแล้วสร้างเกราะหุ้มตัวเองรอบกิ่งไม้นั้นตลอดช่วงชีวิต การขยายพันธุ์ ครั่งจะขยายพันธุ์ในระยะที่เป็นตัวอ่อน โดยจะปล่อยตัวอ่อนครั่งให้ไปเกาะกิ่งไม้ใหม่ซึ่งจะทำได้ปีละ 2 ครั้ง คือ รอบฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 1 ครั้ง และรอบฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม อีก 1 ครั้ง เมื่อปล่อยตัวอ่อนครั่งไปแล้วจะทิ้งให้ขยายพันธุ์เองจนครบวงจรชีวิตของครั่งตัวเมียแล้วจึงตัดกิ่งไม้เก็บผลผลิตครั่ง ถ้าปล่อยในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะเก็บครั่งในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แล้วถ้าปล่อยครั่งในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก็ตัดเก็บในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นต้นไป เมื่อผู้เพาะเลี้ยงครั่งตัดกิ่งไม้ที่มีรังครั่งหุ้มและแกะเอารังครั่งออกจากกิ่งไม้แล้ว ครั่งที่ได้เรียกว่า ครั่งดิบ (stick lac) ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ

  1. ครั่งสด เป็นครั่งดิบที่เมื่อกะเทาะดูจะพบน้ำเมือกสีแดงหรือที่เรียกว่า เลือดครั่ง ซึ่งประกอบด้วยตัวครั่ง และไข่ที่ยังไม่ฟักตัว ซึ่งครั่งชนิดนี้จะซื้อขายกันในช่วงต้นฤดูกาลผลิต
  2. ครั่งแห้ง เป็นครั่งดิบที่ได้ผ่านการตากแห้งหรือเก็บรักษาจนน้ำเมือกสีแดงแห้งแล้ว


ครั่งดิบ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักๆ อยู่ 2 ส่วนคือ สารสีแดงจากครั่ง มีประมาณ 1.5-2% โดยน้ำหนักครั่งดิบและส่วนที่เป็นยางเหนียวหรือชัน ซึ่งใช้ทำเชลแลคและใช้เป็นสัดส่วนประกอบในอุตสาหกรรมพลาสติกคุณภาพสูง ได้แก่ สวิทช์ไฟฟ้า เป็นต้น สารสีจากครั่งมี 2 ชนิด คือ ส่วนที่ละลายน้ำประกอบด้วยสารสีแดงชื่อ Laccaic acid หรือเรียกทั่วไปว่า สีครั่ง (lac dye) และสารสีเหลืองที่ละลายในอัลกอฮอล์ เรียกว่า Erythrolaccin ซึ่งประกอบด้วยสาร 2 ชนิด คือ deoxyerythrolaccin (I) และ isoerythrolaccin (II) Laccaic acid เป็นสารประกอบกลุ่มแอนทราควิโนนซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างกันไม่น้อยกว่า 4 ชนิด คือ laccaic acid A, B, C และ D แต่ที่พบเป็นองค์ประกอบหลักของสีครั่ง คือ laccaic acid A และ B เท่านั้น laccaic acid ละลายได้ดีในน้ำและน้ำด่าง ใช้เป็นสีย้อมธรรมชาติย้อมเส้นใยโปรตีน เช่น ไหมและขนสัตว์ได้ดี ความคงทนต่อการซักล้าง ขัดถูและแสงต่ำ แต่เมื่อทำปฏิกิริยาในสารละลายกรด จะให้คุณสมบัติที่ติดแน่นกับสารอื่นได้ดี สารที่ทำให้สีติดกับเส้นใยดีขึ้น หรือสารช่วยติดสี (mordant) ที่นิยมใช้กับสีครั่ง ได้แก่ สารส้ม กรดทาร์ทาริก น้ำมะขาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคงทนของสีต่อการซัก ขัดถูและแสงได้ดีขึ้น สีครั่งใช้ย้อมผ้าฝ้ายได้แต่ไม่ดีเท่าผ้าไหม



เอกสารอ้างอิง


รายงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนาสารย้อมสีธรรมชาติในเขตภาคเหนือตอนบน (ระยะที่ 2)

http://alangcity.blogspot.com/2013/01/blog-post_23.html



ร่วมแสดงความคิดเห็น