พิธีลงนามความร่วมมือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเครือข่ายข้อมูลวัดคุณภาพอากาศ เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม

5 ภาคีรวมพลัง GO GREEN เดินหน้าสร้างอากาศที่ดี เพื่อลมหายใจแห่งอนาคตของคนไทย

          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังประกาศเจตนารมณ์ มุ่งยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตั้งเป้าขยายและเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์ PM2.5 แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องในภาพรวมของประเทศไทย

         โดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและขยายเครือข่ายข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 5 หน่วยงาน ร่วมลงนามเป็นพยาน

          บันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยจะนำข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศของแต่ละหน่วยงาน มาพัฒนาเป็นศูนย์ข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกัน โดยมุ่งติดตั้งเซ็นเซอร์ เพิ่มเติมในพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มภาคี เพื่อขยายพื้นที่เครือข่ายข้อมูลฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงและแสดงผลบนแพลตฟอร์มที่สามารถดูข้อมูลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ โดยจะให้บริการข้อมูลในการติดตาม สถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

              ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้ร่วมลงนามเป็นพยานในพิธีดังกล่าว เพื่อร่วมนำอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซ็นเซอร์แบบต้นทุนต่ำ DustBoy (ทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)) จากผลการวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล และคณะวิจัย ภายใต้สังกัดหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีและร่วมสนับสนุนการดำเนินงานแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งในมิติของการสร้างนวัตกรรม ตามภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ได้แก่ การสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองที่มีความแม่นยำ DustBoy เพื่อใช้แสดงผลสภาพปัจจุบันและคาดการณ์สภาวะการณ์ล่วงหน้า นำไปสู่การแจ้งเตือนภัยหรือวางแผนรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที