พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                 ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดี กล่าวรายงาน และมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว สืบเนื่องจาก คุณประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมกรมการข้าว ได้มาเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายเรื่อง เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านข้าวพันธุ์กลายที่ปรับปรุงพันธุ์ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำที่ได้ผลผลิตสูง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นพัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวกว่าวิธีดั้งเดิมมาก คือ “เทคโนโลยีกระตุ้นการกลายพันธุ์ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง ซึ่งได้ข้าวพันธุ์ใหม่มากกว่า 150 สายพันธุ์และได้นำไปส่งเสริมการเพาะปลูก ทั้งในภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันตก คือ 1 ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) ที่มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีกลิ่นหอม 2. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4) 3. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23) เพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญระบาด เพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ซึ่งข้าว 3 สายพันธุ์ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ของชาวนาไทยในยุค 4.0 ชาวนาไทยยังคงเป็นกลุ่มอาชีพอันดับต้น ๆ ที่มีหนี้สินมากที่สุด สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือพันธุ์ข้าวไทยที่ชาวนาปลูกข้าวเป็นข้าวเพื่อการบริโภค (table rice) เป็นหลัก ซึ่งข้าวเพื่อการบริโภคเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ประเทศคู่แข่งเช่นประเทศเวียดนามและอินเดียสามารถผลิตข้าวได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า ประเทศไทยจึงกดราคาข้าวให้ต่ำลงเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาการรับซื้อข้าวจากชาวนาในประเทศต่ำลงแทบไม่คุ้มต้นทุน ทำให้ชาวนาไทยอยู่ในสภาพที่ยากจนและเป็นหนี้สินมาก

                   ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสร้างความร่วมมือเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนและแก้ปัญหาการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญระบาด เพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยด้านข้าว เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ พัฒนาภาคการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีการจัดประชุมหารือเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับกรมการข้าว เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย