การใช้การบรรจุภัณฑ์ดัดแปลงบรรยากาศและการเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิต่ำเพื่อยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้

  มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เป็นผลไม้ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงมาก การขนส่งไปจำหน่ายยังประเทศในแถบสหภาพยุโรป ถ้าขนส่งทางอากาศใช้เวลานาน 1 วัน ค่าขนส่งประมาณกิโลกรัมละ 120 บาท แต่ถ้าขนส่งทางเรือใช้เวลา 20-25 วัน ค่าขนส่งประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท ดังนั้นการหาวิธีเพื่อยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงให้ได้นานมากกว่า 30 วันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง


  มะม่วงเป็นผลไม้เขตร้อนไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในสภาพอุณหภูมิต่ำได้ ทำให้มีอายุการเก็บรักษาสั้น ปัจจุบันการส่งออกผลมะม่วงสดไปยังต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงใช้การขนส่งทางอากาศ ทำให้มะม่วงจากประเทศไทยมีราคาสูงไม่สามารถแข่งขันกับมะม่วงจากประเทศอื่นๆ ได้ การเก็บรักษาผลผลิตในสภาพอุณหภูมิต่ำสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตได้ แต่มะม่วงเป็นผลไม้เขตร้อนมักจะเกิดอาการสะท้านหนาว ถ้าเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 13 ± 2 องศาเซลเซียส


  การใช้พลาสติกฟิล์มในการห่อผลมะม่วงจะทำให้เกิดสภาพดัดแปลงบรรยากาศภายในห่อทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตให้นานขึ้น (ภานุมาศ, 2530; ณรงค์ศักดิ์, 2537) นอกจากนี้ยังพบว่าการห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้ด้วยพลาสติกที่มีการดัดแปลงสภาพบรรยากาศ สามารถชะลอการเกิดอาการสะท้านหนาวเมื่อเก็บรักษาผลมะม่วงไว้ที่อุณหภูมิต่ำได้ (มาโนชญ์ และคณะ, 2536; Pesis et al. , 2000) ดังนั้น ในงานวิจัยจึงนี้ได้หาสภาพการดัดแปลงบรรยากาศในภาชนะบรรจุเพื่อเหมาะสำหรับยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้ในสภาพอุณหภูมิต่ำให้ได้นานกว่า 30 วัน เพื่อขนส่งไปยังสหภาพยุโรปโดยทางเรือ โดยการบรรจุมะม่วงในภาชนะบรรจุพลาสติกที่ปิดสนิท และเจาะรูเพื่อให้เกิดการดัดแปลงบรรยากาศภายในภาชนะบรรจุในสภาพบรรยากาศต่าง ๆ แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นาน 25, 32, และ 39 วัน แล้วนำออกมาวางไว้ให้สุกที่อุณหภูมิห้อง (25 ± 3 องศาเซลเซียส)


  ผลการทดลองพบว่า การเก็บรักษามะม่วงในกล่องพลาสติกเจาะรูในระดับที่เหมาะสมจะสามารถเก็บรักษามะม่วงไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ได้นาน 32 วัน โดยที่ผลมะม่วงไม่เกิดอาการสะท้านหนาว และเมื่อนำมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน 7 วันมะม่วงมีการสุกปกติ ถ้าเก็บรักษามะม่วงในห้องเย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นาน 39 วัน ผลมะม่วงจะแสดงอาการสะท้านหนาว การเก็บรักษามะม่วงในสภาพที่ไม่มีรูระบายอากาศเลย หรือมีรูระบายอากาศที่น้อยเกินไปจะทำให้เกิดผลมะม่วงเกิดการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน แต่ถ้ามีรูระบายอากาศมากเกินไปก็จะทำให้ผลมะม่วงเกิดอาการสะท้านหนาว


เอกสารอ้างอิง


ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม. 2537. การหาวิธีการหุ้มห่อผลมะม่วงในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยใช้ฟิล์มโพลีเมริคเจาะรู. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่.


ภานุมาศ อัสดร. 2530. การยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงพันธุ์เขียวเสวย(Mangifera indica L. cv. Keaw Sawoey) โดยใช้ พลาสติกฟิล์มและสภาพความดันต่ำ. การค้นคว้าอิศระเชิงวิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการสอนชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่.


มาโนชญ์ กูลพฤกษี สายชล เกตุษา และสุรนันต์ สุภัทรพันธ์. 2536. ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่มีต่อคุณภาพและการเกิดความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำของผลมะม่วงน้ำดอกไม้. ว.เกษตรศาสตร์ (วิทย์) 27 : 115-124.


Pesis, E., Aharoni, D, Aharon, Z., Ben-Arie, R. Aharoni, N. and Fuch, Y. 2000. Modified atmosphere and modified humidity packaging alleviates chilling injury symptoms in mango fruit. Postharvest Biol. Technol. 19: 93-101.



ร่วมแสดงความคิดเห็น