การพัฒนาวัสดุห้ามเลือดในร่างกายของมนุษย์

ในอดีตนั้นได้มีการบันทึกเรื่องการใช้วัสดุห้ามเลือดไว้ว่าประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล Hippocrates และ Galen ได้ใช้สารกัดไหม้ (caustic compound) ทำลายโปรตีนให้กลายเป็นก้อนเพื่อใช้ห้ามเลือดในเนื้อเยื่อ ในปี ค.ศ. 1885 Horsley ได้ใช้ไขผึ้งห้ามเลือดที่กระดูก ปี ค.ศ. 1911 Horsley และ Cushing ทดลองใช้แผ่นกล้ามเนื้อสดปิดห้ามเลือดบริเวณหลอดเลือดดำและหลอดเลือดฝอย พบว่าเกิดการยึดจับที่ทนต่อแรงดันภายในหลอดเลือดได้ถึง 80 มิลลิเมตรปรอท ใน ปี ค.ศ. 1942 Yackel และ Kenyon นำ oxidized cellulose ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในร่างกายของมนุษย์มาทำเป็นวัสดุห้ามเลือด ในปี ค.ศ. 1944 Bice ได้ใช้ฟองแป้ง (sponge) ที่ทำจากแป้งข้าวโพดมาเป็นวัสดุห้ามเลือดอย่างไรก็ตามถึงแม้มีราคาถูกแต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมใช้เนื่องจากมีความเปื่อยยุ่ยมากเกินไป


ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1945 Correl และ Wise ได้คิดค้น gelatin sponge และได้ถูกศัลยแพทย์นำมาใช้ห้ามเลือดซึ่งเกิดจากการผ่าตัด ในปัจจุบันนี้มีวัสดุห้ามเลือดหลายชนิดให้ศัลยแพทย์ได้เลือกใช้ ได้แก่ bone wax, oxidized cellulose และ gelatin sponge



วัสดุห้ามเลือดเหล่านี้มีการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น bone wax และ fibrin glue ทำหน้าที่อุดรูรั่วของหลอดเลือด gelfoam ทำให้เกิดแรงดันกดทับบริเวณที่ตกเลือด ส่วน thrombin, cryoprecipitate coagulum และ fibrin seal ทำหน้าที่เร่งการสร้างไฟบริน ในขณะที่ microfibrillar collagen ทำหน้าที่เร่งการทำงานของเกล็ดเลือด epsilon aminocaproic acid และ aprotinin ทำหน้าที่ยับยั้งการสลายตัวของลิ่มเลือด ส่วน chitosan ทำให้เซลล์มารวมตัวกัน


ไฮโดรเจล นับเป็นวัสดุห้ามเลือดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถดูดซับของเหลวได้ดี สามารถนำมาใช้กับแผลทั้งภายนอกและภายใน เช่น แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือไฟคลอก หรือใช้ในการดูดซับเลือดหรือของเหลวที่เกิดจากการผ่าตัด ไฮโดรเจลที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. ดูดซับน้ำได้ดี
  2. มีผิวสัมผัสที่อ่อนนุ่มและยืดหยุ่น
  3. มีลักษณะคล้ายคลึงกับเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต
  4. มีความคงตัวต่อของเหลว
  5. ไม่ก่อความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อของผู้ป่วย


อย่างไรก็ตามวัสดุห้ามเลือดที่มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์นั้นต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. ทำงานแบบชั่วคราว
  2. สามารถย่อยสลายในร่างกายได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  3. ไม่ก่อปัญหาต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง
  4. ใช้งานได้ง่ายและสะดวก
  5. สามารถเก็บรักษาได้นาน
  6. สามารถห้ามเลือดได้อย่างอย่างเร็วและมีประสิทธิภาพ
  7. ที่สำคัญต้องมีราคาถูก ดังนั้นจึงมีการนำวัสดุภายในประเทศมาใช้ประโยชน์ เช่น ข้าวเจ้า ไคโตซาน หรือไฟโบรอินจากรังไหม มาพัฒนาเพื่อให้ได้วัสดุห้ามเลือดที่มีคุณสมบัติดีที่สุด


สำหรับไฮโดรเจลเพื่อใช้ห้ามเลือดในร่างกายบริเวณอวัยวะอ่อนนุ่มที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นมา ได้แก่ ฟองเจลาติน, ฟองคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส, แผ่นแป้งข้าวเจ้ากรด, ฟองข้าวเจ้า, ฟองข้าวเจ้าผสมไหมไฟโบรอิน เป็นต้น และที่กำลังทำและทดสอบทางห้องปฏิบัติการ คือ ฟองไหมไฟโบรอิน




ร่วมแสดงความคิดเห็น