ผักเชียงดา (ตอนที่ 1)

ผักเชียงดามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.) Decne. และมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น เจียงดา, ผักเชียงดา, ผักกูด, ผักม้วนไก่ หรือ ผักเซ็ง เป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนืออีกชนิดหนึ่งที่คนในท้องถิ่นนิยมบริโภค ลักษณะของผักเชียงดา เป็นไม้เลื้อยมีลำต้นสีเขียว ส่วนต่างๆ ที่อยู่เหนือดินมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกเป็นดอกช่อและมีสีเหลืองหรือสีเขียว ผลออกเป็นผักรูปร่างคล้ายหอก

การขยายพันธุ์ นิยมใช้วิธีปักชำหรือการเพาะเมล็ด ผักเชียงดาเป็นพืชที่ทนแล้งแต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีการระบายน้ำที่ดี โดยนิยมปลูกตามริมรั้วหรือปล่อยให้เลื้อยขึ้นตามค้างหรือพาดขึ้นตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง


ผักเชียงดา

คุณค่าทางโภชนาการ

ยอดอ่อนและใบอ่อนของผักเชียงดามีรสขมอ่อนๆ และมีสารอนุมูลอิสระสูงมาก ในผักเชียงดาหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 60 แคลอรี มีน้ำประมาณ 87.9% วิตามินซี 153 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 5905 ไมโครกรัม วิตามินเอ 984 ไมโครกรัม แคลเซียม 78 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม เส้นใยอาหาร 2.5 กรัม โปรตีน 5.4 กรัม ไขมัน 1.5 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 8.6 กรัม


สรรพคุณทางยา

ผักเชียงดามีสรรพคุณมากมาย เช่น

  1. ช่วยลดน้ำตาล
  2. แก้ไข้และแก้หวัด
  3. ใช้รักษาอาการท้องผูกและโรคริดสีดวงทวาร
  4. ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างในร่างกาย
  5. ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับอ่อนให้แข็งแรง
  6. ช่วยลดน้ำหนัก
  7. ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อและปวดกระดูก
  8. ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้และโรคหอบหืด


เมนูอาหารผักเชียงดา

เมนูอาหาร

นิยมนำใบอ่อน ยอดและดอกของผักเชียงดามาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือตำมะม่วง ผัดใส่น้ำมันหอยหรือผัดใส่ไข่ เมนูที่นิยมกันมาก คือ แกงใส่ปลาแห้ง หรือนำมาแกงร่วมกับผักชนิดอื่น เช่น ผักฮ้วน หรือ ผักตำลึง แกงผักเชียงดาใส่ปลาย่าง มีส่วนประกอบดังต่อไปนี้

  1. ยอดและใบอ่อนของผักเชียงดา
  2. มะเขือเทศ ถ้าจะให้อร่อยควรใช้มะเขือเทศพันธุ์พื้นเมือง
  3. ปลาแห้ง
  4. น้ำพริกแกง ประกอบด้วย พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม กะปิ
  5. ปลาร้า

วิธีทำ นำปลาแห้งมาต้มในหม้อให้เดือดเมื่อต้มเสร็จแล้วตักปลาแห้งออกนำมาแกะเอาแต่เนื้อปลา ใส่น้ำพริกแกงลงไปตามด้วยเนื้อปลาแห้ง ใส่ผักเชียงดาและใส่มะเขือเทศลงไป ใส่ปลาร้าและปรุงรสตามชอบใจ



ร่วมแสดงความคิดเห็น