กะเพรา พืชสมุนไพรใกล้ตัว

  กะเพรา (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum sanctum) และมีชื่อสามัญว่า Holy basil, Sacred basil อยู่ในวงศ์ Labeataceae เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขา สูง 30-60 ซม.หรือประมาณเข่า อาหารในบ้านเราที่มีใบกระเพราเป็นองค์ประกอบอาจมีอยู่เพียงหนึ่งประเภทเท่านั้นที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเป็นอาหารจานเดียวที่เป็นที่นิยมกันมากคือ ผัดกะเพรา ซึ่งจะมีความหลากหลายแล้วแต่เนื้อสัตว์หรือผักอื่นที่เข้ามาเป็นองค์ประกอบ กะเพราที่พบปลูกในประเทศไทยมี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาว และ กะเพราลูกผสมระหว่างแดงและขาว ชื่อสามัญอื่นที่ใช้เรียก แตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่นคือ กอมก้อ หรือกอมก้อดง (เชียงใหม่) เป็นต้น


  สรรพคุณทางยาพื้นบ้านของกระเพรา คือ ใบใช้บำรุงธาตุไฟ ขับลมแก้ปวดท้องอุจจาระ แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน คนไทยสมัยก่อนใช้ใบแห้งบดเป็นยานัตถุ์แก้คัดจมูก นอกจากนั้นใบและยอดทั้งสดและแห้งใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ส่วนของรากที่แห้งแล้วใช้ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ น้ำสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด จากรายงานทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า กระเพรามีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการหลายอย่างอาทิ ฤทธิ์ในการลดปริมาณไขมันในเลือด โดยให้กระต่ายได้รับใบกะเพราสดผสมในอาหาร เพียง 1-2 กรัม/กก./วัน เป็นเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ พบว่า ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม (Total Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ฟอสโฟไลปิด (Phospholipids) ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Low Density Lipoprotein-LDL-Cholesterol ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ลดลงในปริมาณพอๆกับที่คอเลสเตอรอลที่ดี (High Density-HDL-Cholesterol) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์ในการลดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด จากการศึกษาในหนูทดลอง โดยให้ผงใบกะเพราขนาด 200 มิลลิกรัม/กก./วัน ในหนู 3 ประเภท ได้แก่ หนูปกติ หนูที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากการชักนำ และหนูที่เป็นเบาหวานโดยการทำลายตับอ่อน พบว่ากะเพราสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองทั้ง 3 ประเภท นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยในใบกะเพรา (Basil Essential Oil) ยังช่วยให้กลไกควบคุมน้ำตาลในเลือดเป็นปกติอีกด้วย


  สารที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยของกระเพราทั้งขาวและแดงคล้ายกัน ปริมาณอาจต่างกันเล็กน้อย และยังสัมพันธ์กับพื้นที่ที่ปลูกด้วย โดยพบสารที่เป็นองค์ประกอบหลักๆ 15 ชนิด เช่น a-pinene (0.51), camphene (0.51), linalool (0.32), methyl eugenol (81.72) เป็นต้น ซึ่งมี methyl euginol เป็นสารออกฤทธิ์ที่พบเป็นหลัก Eugenol (4-allyl-1-hydroxy-2-methoxybenzene) เป็นสารประกอบประเภท phenolic compound ที่มักพบในน้ำมันหอมระเหยจากใบ clove ในอบเชย (cinnamon) และในพืชในกลุ่ม basil (กะเพรา โหระพา แมงลัก เป็นต้น) ถูกใช้เป็น food flavouring agent ในอุตสาหกรรมอาหาร สารประเภท euginol แสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิดอาทิ เซลล์มะเร็งเม็ดสีของหนู (B16 melanoma xenograft model) (Ghosh et al., 2005, Pisano et al., 2007 and Slamenova et al., 2009) มีรายงานการวิจัยระบุว่า สารดังกล่าวออกฤทธิ์ผ่านทางการกดการทำงานของ nuclear factor-kappaB (NF-?B) signaling (Manikandan et al. in press).


  นอกจากนี้ eugenol ยังสามารถชักนำให้เกิด apoptosis ผ่านทางเส้นทางการทำงานที่เกี่ยวข้องกันไมโตคอนเดรีย โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ Bcl-2 ซึ่งเป็นโปตีนตัวหนึ่งในเส้นทางการทำงานดังกล่าว


เอกสารอ้างอิง


http://thaiscience-at-eu.blogspot.com/2012/02/blog-post_299.html


Palrasu Manikandan, Ramalingam Senthil Murugan, Ramamurthi Vidya Priyadarsini, Govindarajah Vinothini, Siddavaram Nagini Eugenol induces apoptosis and inhibits invasion and angiogenesis in a rat model of gastric carcinogenesis induced by MNNG (2010) Life Sciences 86 (25?26), 936?941


บทความวิจัยอื่นๆ ของ นายพงศธร ธรรมถนอม

กะเพรา พืชสมุนไพรใกล้ตัว

พืชผักสมุนไพรและการต่อต้านมะเร็ง


ร่วมแสดงความคิดเห็น