ปลูกผักไฮโดรพอนิกส์กินเอง ประหยัด ปลอดภัย ไร้สารพิษ

เมื่อกล่าวถึงผักไฮโดรพอนิกส์ อย่างแรกที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคือ ราคาที่ค่อนข้างสูง (ประมาณ 100-120 บาท/กิโลกรัม) แต่ถึงจะมีราคาที่สูงแต่ปัจจุบันกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนหันมาให้ความสนใจในการเลือกซื้ออาหารปลอดภัยเพื่อมาบริโภคมากขึ้น ผักไฮโดรพอนิกส์จึงยังเป็นตัวเลือกต้นๆ ของกลุ่มผู้บริโภคผู้ใส่ใจในคุณภาพของสินค้าซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ราคาที่สูงก็ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับใครหลายๆคนที่มีงบไม่พอแต่อยากบริโภคผักไฮโดรพอนิกส์ แนวทางแก้ไขก็คือ การปลูกผักไฮโดรพอนิกส์กินเองในครัวเรือนซึ่งไม่ยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังประหยัด ปลอดภัย ไร้สารพิษ และถือเป็นกิจกรรมเสริมภายในครอบครัวได้อีกด้วย


ผักไฮโดรพอนิกส์ที่มีขายเป็นการค้า มีต้นทุนการผลิตที่สูง เนื่องจากระบบปลูก โรงเรือน คนงาน การขนส่ง ฯลฯ แต่ในกรณีที่เราปลูกกินเองในครัวเรือนแบบง่ายๆปริมาณไม่มาก ต้นทุนหลายๆตัวก็จะถูกตัดไปทำให้ประหยัดมากขึ้น สิ่งสำคัญในการปลูกพืชแบบไฮโดรพอนิกส์นั้น ผู้ปลูกต้องเข้าใจถึงหลักการผลิตก่อน ซึ่งเหมือนกับการปลูกพืชทั่วไป คือการควบคุมและจัดหาปัจจัยต่างๆอาทิ น้ำ อากาศ แสงแดด และ ธาตุอาหาร ให้พืชได้อย่างเหมาะสม ในกรณีที่ปลูกพืชในดิน ดินจะเป็นตัวให้ น้ำ อากาศ และธาตุอาหารกับพืช ดังนั้น เมื่อเราปลูกแบบไม่ใช้ดิน เราก็ต้องจัดหาปัจจัยเหล่านี้ทดแทนให้กับพืช เท่านี้พืชก็สามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ใช้ดิน


วัสดุ อุปกรณ์ และขั้นตอนการผลิตผักไฮโดรโพนิกส์แบบง่ายๆ ในครัวเรือน

ขั้นตอนการผลิตผักไฮโดรพอนิกส์

  1. การเตรียมระบบปลูก: สามารถทำเองได้ถ้าต้องการประหยัดงบ หรือหาซื้อเป็นชุดสำเร็จรูปสำหรับครัวเรือนที่มีขายอยู่ทั่วไปได้ ซึ่งราคาจะแปรผันตามวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิต
  2. การเพาะเมล็ด: เพาะเมล็ดในถ้วยเพาะเมล็ดที่มีรูให้น้ำซึมผ่านได้อยู่ด้านล่างถ้วย หรืออาจปรับใช้วัสดุที่เหมาะสมได้ สำหรับวัสดุเพาะเมล็ดสามารถใช้ได้หลายชนิดตามความสะดวกเหมาะสมเช่น ทรายกับขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1:1) หรือ เวอร์มิคูไลท์ กับ เพอร์ไลท์ (อัตราส่วน 1:10) หรือใช้ฟองน้ำ เป็นต้น เมื่อเพาะเมล็ดเสร็จแล้ว นำถาดเพาะไปวางไว้ในกระบะหรือถาดที่ใส่น้ำเปล่าไว้ วัสดุปลูกจะทำการดูดน้ำจากก้นถ้วยขึ้นมา ทำให้เมล็ดได้รับความชื้นและงอก โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการงอก หลังจากนั้นเพิ่มสารละลายธาตุอาหารให้กับพืชในเข้มข้นต่ำๆ (EC หรือค่าความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหาร ประมาณ 0.5 ms/cm) จนรากเริ่มยึดยาวประมาณ 2 สัปดาห์ จึงย้ายลงสู่ระบบปลูกต่อไป
  3. เตรียมสารละลายธาตุอาหาร: หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านที่ขายอุปกรณ์สำหรับการปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์ ในการใช้งานต้องทำการปรับ ค่า EC และ pH (ค่าความเป็นกรด-ด่าง) ให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกด้วย ซึ่งโดยปกติ ค่า pH ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 5.8-6.5 ส่วนค่า EC อยู่ที่ 1.8-2.0 ms/cm
  4. ระยะเวลาการปลูก: ผักสลัดทั่วไป จะมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 45 วัน นับจากวันเพาะเมล็ด ถ้าเก็บเกินเวลานี้ ผักจะมีรสชาติขมไม่อร่อย
รูปที่ 1 ระบบผลิตอย่างง่ายแบบ DFT; Deep Flow Technique (ระบบน้ำลึก มีสะดือปรับระดับน้ำ)

ส่วนประกอบของระบบ ได้แก่

  1. โครงโต๊ะขนาด 1.2 x 2.4 เมตร
  2. สะดือปรับระดับน้ำ
  3. ท่อต่อระบบน้ำหมุนวน
  4. ปั๊มน้ำ
  5. แผ่นโฟม เจาะรู
  6. พลาสติกสำหรับปูโต๊ะ
  7. ถังพลาสติกสำหรับใส่สารละลาย

ราคาประมาณ 2,500 บาท ปลูกได้ 30 ต้น/โต๊ะ


ส่วนประกอบในการผลิต ได้แก่

  1. ถ้วยเพาะเมล็ด ( 0.4 x 30 = 12 บาท)
  2. เมล็ดพันธุ์แบบเคลือบ (0.5 X 30 = 15 บาท)
  3. วัสดุเพาะเมล็ด (0.5 X 30 = 15 บาท), (ใช้เวอร์มิคูไลท์ กับเพอร์ไลท์ 1:10)
  4. สารละลายธาตุอาหาร 20 บาทได้ 100 ลิตร (20 X 2 = 40 บาท) , (รอบหนึ่งใช้เวลา 45 วัน ใช้สารละลายประมาณ 200 ลิตร)

ราคารวมต่อรอบการผลิต ต่อหนึ่งโต๊ะ = 82 บาท/โต๊ะ/รอบ
(ไม่รวมค่าไฟ ค่าแรงงาน และค่าโรงเรือน)



ร่วมแสดงความคิดเห็น